top of page

ความหมายของประวัติศาสตร์

    ประวัติศาสตร์ (อังกฤษ: history; รากศัพท์ภาษากรีก ἱστορία หมายถึง "การสอบถาม ความรู้ที่ได้มาโดยการสอบสวน") เป็นการค้นพบ รวบรวม จัดระเบียบและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ประวัติศาสตร์ยังอาจหมายถึงช่วงเวลาหลังมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้น นักวิชาการผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เรียกนักประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นสาขาการวิจัยซึ่งใช้การบรรยายเพื่อพิจารณาและวิเคราะห์ลำดับของเหตุการณ์[1][2] และบางครั้งพยายามสอบสวนรูปแบบของเหตุและผลซึ่งมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์อย่างยุติธรรม นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันเรื่องธรรมชาติของประวัติศาสตร์และประโยชน์ของมัน ซึ่งรวมทั้งถกเถียงการศึกษาสาขาวิชาเป็นจุดจบในตัวมันเองและเป็นเสมือนวิถีการให้ "มุมมอง" ต่อปัญหาในปัจจุบัน[1][3][4][5] เรื่องเล่าซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง แต่ไม่มีการสนับสนุนจากแหล่งข้อมูลภายนอก (เช่น ตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์) มักจัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมากกว่า "การสอบสวนอย่างไม่นำพา" ที่จำเป็นตามสาขาประวัติศาสตร์[6][7] เหตุการณ์ในอดีตก่อนมีบันทึกลายลักษณ์อักษรเรียกว่า ยุคก่อนประวัติศาสตร์

    ในบรรดานักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เฮโรโดตัส ถูกพิจารณาว่าเป็น "บิดาแห่งประวัติศาสตร์" เขาร่วมกับธูซิดดิดีส นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก่อตั้งรากฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ อิทธิพลของพวกเขา ร่วมกับแบบแผนทางประวัติศาสตร์อื่นในส่วนอื่นของโลก ได้ก่อให้เกิดการตีความธรรมชาติของประวัติศาสตร์ไปต่าง ๆ นานา ซึ่งได้วิวัฒนามาเป็นเวลาหลายศตวรรษและยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในปัจจุบัน การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีหลายสาขา รวมทั้งสาขาที่มุ่งศึกษาภูมิภาคหนึ่งโดยเฉพาะ และสาขาที่มุ่งศึกษาองค์ประกอบเฉพาะหัวข้อหรือใจความของการสอบสวนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มักสอนเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาขั้นประถมและมัธยม และการศึกษาวิชาการประวัติศาสตร์เป็นสาขาหลักในระดับอุดมศึกษา

   "ประวัติศาสตร์" เป็นคำที่มีความหมายหลากหลาย แต่ความหมายที่สำคัญที่ใช้โดยทั่วไปคือ 1) เหตุการณ์ในอดีตทั้งหมดของมนุษย์ หรืออดีตทั้งหมดของมนุษย์ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกจนถึงวินาทีที่พึ่งผ่านมา และ 2) หมายถึงเรื่องราวของบางเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตที่เรารู้หรือเข้าใจ นั่นคือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์สร้างขึ้นมาเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านพ้นไป[ต้องการอ้างอิง]

นักปรัชญาประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงให้คำอธิบายถึงคำว่า "ประวัติศาสตร์" ไว้ เช่น

   อาร์. จี. คอลลิงวูด (R. G. Collingwood) อธิบายว่าประวัติศาสตร์คือวิธีการวิจัยหรือการไต่สวน ... โดยมีจุดมุ่งหมายจะศึกษาเกี่ยวกับ ... พฤติการณ์ของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในอดีต

   อี. เอช. คาร์ (E. H. Carr) อธิบายว่าประวัติศาสตร์นั้นก็คือกระบวนการอันต่อเนื่องของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับข้อมูลของเขา ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาอันไม่มีที่สิ้นสุดระหว่างปัจจุบันกับอดีต[9] (a continuous process of interaction between the present and the past.)

   ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ อธิบายคำว่าประวัติศาสตร์ดังนี้ "การเข้าใจอดีตนั้นคือประวัติศาสตร์ ... เราต้องเข้าใจว่าความรู้เกี่ยวกับอดีตนั้นสร้างใหม่ได้เรื่อย ๆ เพราะทัศนะมุมมองของสมัยที่เขียนประวัติศาสตร์นั้นเปลี่ยนอยู่เสมอ ..."[ต้องการอ้างอิง]

  วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้ได้ความรู้และคำตอบที่เชื่อว่าสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอดีตได้ถูกต้องมากที่สุด ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าข้อเท็จจริงที่ถูกต้องคืออะไร ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการศึกษา และการใช้เหตุผลในการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานและนำไปใช้อย่างถูกต้อง ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สะท้อนข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากนิทาน นิยาย หรือเรื่องบอกเล่าที่เลื่อนลอย

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2459 มีการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นเป็นวิชาความรู้พื้นฐานสำหรับนิสิตในคณะต่าง ๆ (นโยบายนี้ยังปรากฏในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) ซึ่งเปิดสอนใน พ.ศ. 2477 ด้วย) ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2466 เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงดำเนินการปรับปรุงคณะแพทยศาสตร์และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทรงจัดหลักสูตรสำหรับวิชาประวัติศาสตร์ด้วยพระองค์เอง โดยทูลเชิญและเชิญผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางมาปาฐกถา เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายประวัติศาสตร์ไทย และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติทรงบรรยายอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียต่อวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจึงเปิดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอกในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยก่อน พ.ศ. 2516 มีสถาบันอุดมศึกษาเพียง 2 แห่งที่เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาโท คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปัจจุบัน)

ปัจจุบันสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐที่ทำการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ได้แก่

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

  • หมวดวิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • วิชาโทประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์และศิลปะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ส่วนสถานศึกษาของเอกชน ได้แก่

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ

อนึ่ง นอกจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่จัดให้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกแล้ว หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรงในงานด้านประวัติศาสตร์ของชาติคือสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และยังมีหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนการศึกษาด้านนี้ด้วย แต่การดำเนินงานไม่เป็นที่กว้างขวางและแพร่หลายนักในสังคม เช่น

bottom of page