top of page

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

   หลักฐานทางประวัติศาสตร์ (Historical Sources)

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ หมายถึง ร่องรอยการกระทำ การพูด การเขียน การประดิษฐ์ การอยู่อาศัยของมนุษย์ หรือลึกไปกว่าที่ปรากฏอยู่ภายนอก คือ ความคิดอ่าน โลกทัศน์ ความรู้สึก ประเพณีปฏิบัติของมนุษย์ในอดีต ความรู้สึกของคนในปัจจุบัน สิ่งที่มนุษย์จับต้องและทิ้งร่องรอยไว้ กล่าวได้ว่าอะไรก็ตามที่มาเกี่ยวพันกับมนุษย์ หรือมนุษย์เข้าไปเกี่ยวพันสามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ทั้งสิ้น

ภาพจากเว็บไซต์ tehrantimes

 ประโยชน์ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นเครื่องมือในการสืบค้นร่องรอยของอดีต เป็นแหล่งค้นคว้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยนำเอาไปประกอบกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจ ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน


การแบ่งประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์

1.  แบ่งตามยุคสมัย

     1.1 หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ หลักฐานที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเป็นอักษร แต่เป็นพวกซากโครงกระดูกมนุษย์ ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ตลอดจนความพยายามที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ในลักษณะของการบอกเล่าต่อๆกันมา เป็นนิทานหรือตำนานซึ่งเราเรียกว่า “มุขปาฐะ”

      1.2 หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ คือ หลักฐานสมัยที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ตัวอักษร และบันทึกในวัสดุต่างๆ มีร่องรอยที่แน่นอนเกี่ยวกับสังคมเมือง มีการรู้จักใช้เหล็ก และโลหะอื่นๆ มาเป็นเครื่องมือใช้สอยที่ปราณีต มีร่องรอยศาสนสถานและประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาอย่างชัดเจน

 2.  แบ่งตามลักษณะหรือวิธีการบันทึก

     2.1 หลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ เอกสารทางวิชาการ ชีวประวัติ จดหมายส่วนตัว หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร กฎหมาย วรรณกรรม ตำรา วิทยานิพนธ์ งานวิจัย ในการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย มีการเน้นการฝึกฝนทักษะการใช้หลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร เป็นส่วนใหญ่ จนอาจกล่าวได้ว่าหลักฐานประเภทนี้เป็นแก่นของงานทางประวัติศาสตร์ไทย

      2.2 หลักฐานไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานโบราณคดี เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ เงินตรา หลักฐานจากการบอกเล่า ที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” หลักฐานด้านภาษา เกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาพูด หลักฐานทางศิลปกรรม ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ หลักฐานประเภทโสตทัศน์ ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพสไสด์ แผนที่ โปสเตอร์ แถบบันทึกเสียง แผ่นเสียง ภาพยนตร์ ดวงตราไปรษณียากร

3. แบ่งตามลำดับความสำคัญ

ภาพจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

       3.1หลักฐานชั้นต้น(Primary sources) อันได้แก่หลักฐานที่บันทึกไว้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง   หรือรู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง

    3.2 หลักฐานรอง(Secondary sources) ซึ่งได้แก่บันทึกของผู้ที่ได้รับทราบเหตุการณ์จากคำบอกเล่าของบุคคลอื่นมาอีกต่อหนึ่ง หนังสือประวัติศาสตร์ที่มีผู้เขียนขึ้นภายหลัง โดยอาศัยการศึกษาจากหลักฐานชั้นต้น  ก็ยังถือว่าเป็นหลักฐานรองอยู่นั่นเอง  นิธิ  เอียวศรีวงศ์  ได้กล่าวไว้ว่าการแบ่งประเภทของหลักฐานเป็นชั้นต้นและชั้นรอง  มีประโยชน์ในการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน  หลักฐานชั้นต้นมักได้รับน้ำหนักความน่าเชื่อถือจากนักประวัติศาสตร์มาก  เพราะได้มาจากผู้รู้เห็นใกล้ชิดกับข้อเท็จจริง  ในขณะที่หลักฐานรองได้รับน้ำหนักความน่าเชื่อถือน้อยลง  อย่างไรก็ตาม  ไม่ควรถือในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดมากนัก  เพราะหลักฐานชั้นต้นก็อาจให้ข้อเท็จจริงผิดพลาดได้  เช่นผู้บันทึกไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในเหตุการณ์ที่ตนบันทึก  หรืออาจจะตั้งใจปกปิดบิดเบือนความจริงเพื่อประโยชน์ของตนหรือคนที่ตนรักเคารพ  เป็นต้น  ในทางตรงกันข้าม  เอกสารชั้นรองที่บันทึกไว้โดยผู้ไม่มีส่วนได้เสีย  แม้ว่าห่างไกลจากเหตุการณ์  แต่ก็สอบสวนข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้แล้ว  ก็อาจให้ความจริงที่ถูกต้องกว่าก็ได้

หลักฐานในทางประวัติศาสตร์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอกสารที่เป็นตัวเล่ม  หรือเป็นก้อนศิลาที่เราจับต้องได้   แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในที่นี้คือข้อความที่บรรจุอยู่ในเอกสาร  หรือข้อความที่ปรากฏอยู่บนก้อนศิลานั้นต่างหากที่ถือว่าเป็นหลักฐาน เพราะข้อความดังกล่าวสามารถบอกเล่าให้เราทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้  ข้อความที่บรรจุอยู่ในหลักฐานทั้งชั้นต้นและชั้นรองนั้น   เราเรียกกันว่า “ ข้อสนเทศ ”  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าข้อสนเทศนี้คือตัวหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั่นเอง

ถ้าเช่นนั้น  “ข้อสนเทศ”  คืออะไร ?

“ข้อสนเทศ”  คือ  สิ่งบรรจุอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์  เช่น  ข้อความที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวของศิลาจารึก  ข้อความที่ปรากฏอยู่บนใบลาน  กระดาษ  ผืนผ้า  ฝาผนังสิ่งก่อสร้างต่างๆ  ตลอดจนถึงจิตรกรรมที่ปรากฏบนพื้นผิวต่างๆ  ลักษณะรูปทรงของเจดีย์  วิหาร  อุโบสถและสิ่งก่อสร้างต่างๆ  หรือลักษณะพุทธลักษณะของพระพุทธรูป  หรือแม้แต่ลักษณะถ้วย  ชาม  หม้อ  ไห  ฯลฯ  ที่สามารถจำแนกได้ว่าอยู่ในสมัยทวารวดี  ศรีวิชัย  ลพบุรี  ล้านนา  สุโขทัย  อยุธยา  รัตนโกสินทร์

ปก พงศาวดารกรุงเก่าฯ
ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ

(ที่มา i-yabooks.tarad.com/
product.deta..._2649084)

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท  คือ

- หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร

- หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร   ถ้าแบ่งตามลักษณะเด่นของข้อสนเทศที่ให้ในหลักฐานแล้ว  อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่  12  ประเภท  คือ

     1.1 จดหมายเหตุชาวต่างชาติ 

     1.2 จดหมายเหตุชาวพื้นเมือง

     1.3  ตำนา

     1.4  พงศาวดารแบบพุทธศาสนา 
     1.5  พระราชพงศาวดาร

     1.6  เอกสารราชการหรือเอกสารการปกครอง

     1.7  หนังสือเทศน์

     1.8  วรรณคดี

     1.9  บันทึก

     1.10  จดหมายส่วนตัว

     1.11  หนังสือพิมพ์

     1.12  งานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์

               แต่อย่างไรก็ตามมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งโดยเนื้อหาแล้วมีข้อสนเทศตรงกับประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่กล่าวไปแล้วใน 12 ประเภท  แต่เนื่องจากมีลักษณะที่พิเศษของตนเอง  และครอบงำประวัติศาสตร์ยุคก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ขึ้นไปอย่างมาก  จึงจัดให้เป็นหมวดหนึ่งต่างหากออกไป  ได้แก่

     1.13  จารึก

2. หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร    ได้แก่

     2.1  หลักฐานทางโบราณคดี  เช่น  หลุมฝังศพ  ซากโครงกระดูก  เครื่องปั้นดินเผา  ลูกปัด  หม้อ  ไห  ถ้วย  ชาม  ภาชนะต่างๆ  หลักฐานเหล่านี้ได้ผ่านการตีความหมายของนักโบราณคดีตามหลักวิชาอย่างถูกต้องแล้ว

     2.2 หลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ  คือ  สิ่งก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรม  ประติมากรรม  จิตรกรรม  และสิ่งแวดล้อมของสังคมที่ให้กำเนิดศิลปกรรมทั้งหลาย  หลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะมักจะช่วยกำหนดอายุของเมืองหรืออารยธรรมที่ไม่มีหลักฐานอย่างอื่นบอกไว้

     2.3 นาฏกรรมและดนตรี  มักเป็นศิลปะที่ได้รับสืบทอดจารีตมาแต่อดีต

     2.4 คำบอกเล่า คือ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีการจดเป็นลายลักษณ์อักษร  ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน  จึงแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและคนเล่า  ซึ่งคำบอกเล่านี้มักเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ที่คนภายในสังคมนั้นมีข้อจำกัดทางการศึกษาจึงใช้การจดจำบอกเล่าสืบต่อกันมา

ที่มา  ใบงานของสถาบันพัฒนาสื่อ หลักสูตรปี 2544
           อ้างถึงใน เวบไซต์ My first info.com

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องอาศัยหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มาศึกษาวิเคราะห์ ตีความเรื่องราว และตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องราวเหตุการณ์นั้นๆ

หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวประวัติความเป็นมาของมนุษย์ เรียกว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้

1. หลักฐานทางศิลปกรรมและโบราณคดี

หลักฐานทางศิลปกรรมที่สำคัญ คือ ศิลปวัตถุแบบอู่ทอง ศิลปวัตถุแบบลพบุรี

ศิลปวัตถุแบบทวารวดี นอกจากนี้ได้แก่เหรียญกษาปณ์ ซากอิฐปูนของวัดวาอาราม

พระพุทธรูป เครื่องใช้ตามบ้านเรือน ฯลฯ

2. หลักฐานของจีนราชวงศ์ต่างๆ

โดยเฉพาะหลักฐานของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น บันทึกของนักพรต นักบวช เช่น

บันทึกของสุมาเจียน จูตากวน และหลักฐานของจีนที่ปรากฏในพงศาวดารภาคต่างๆ

3. หลักฐานที่เป็นหนังสือเก่า

หนังสือเก่านั้นมักจะเขียนลงบนสมุดข่อยหรือใบลาน เช่น ตำนานสิงหนวัติ (เล่าเรื่อง

ตั้งแต่พระเจ้าสิงหนวัติอพยพมาจากเหนือ) , จามเทวีวงศ์ (เป็นเรื่องเมืองหริภุญไชย) , รัตนพิมพ์วงศ์ (เป็นตำนานพระแก้วมรกต) , สิหิงคนิทาน (เป็นประวัติพุทธศาสนาและประวัติเมืองต่างๆ ในลานนาไทย) , จุลลยุทธกาลวงศ์ (เป็นพงศาวดารไทย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ตลอดสมัยอยุธยา) , ตำนานสุวรรณโคมคำ และตำนานมูลศาสนา (เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย)

i ปัญหาของหลักฐานที่เป็นหนังสือเก่า คือ เราไม่ทราบว่าผู้บันทึกเขียนไว้เมื่อไร มีความจริงแค่ไหน และแต่งเติมเพียงใด

4. หลักฐานที่เป็นศิลาจารึก

ศิลาจารึกถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญมากในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในระยะเริ่มแรกสมัยสุโขทัย ที่สำคัญได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) , ศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) , ศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) , ศิลาจารึกหลักที่ 4 (จารึกวัดป่ามะม่วง) , ศิลาจารึกหลักที่ 8 ข. (จารึกวัดพระมหาธาตุ) , จารึกหลักที่ 24 (จารึกวัดหัวเวียงไชยา) , จารึกหลักที่ 35 (จารึกดงแม่นางเมือง นครสวรรค์) , จารึกหลักที่ 62 (จารึกวัดพระยืน ลำพูน) ฯลฯ

หมายเหตุ ศิลาจารึกให้ลำดับหลักตามการค้นพบ ก่อน – หลัง

5. หลักฐานพวกที่เป็นพงศาวดาร

พระราชพงศาวดารสยามมีมากมาย แต่ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์

ไทย ได้แก่

  5.1 พระราชพงศาวดารสยามที่แต่งในสมัยอยุธยา คือ ฉบับหลวงประเสริฐ

  5.2 พระราชพงศาวดารสยามที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ แยกเป็น 3 รัชกาล คือ

  5.2.1 ฉบับรัชกาลที่ 1 มี 4 สำนวน คือ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) , ฉบับเจ้าพระยาพิพิธพิชัย , ฉบับพระพันรัตน์ , ฉบับบริติชมิวเซียม

  5.2.2 ฉบับรัชกาลที่ 3 มี 1 สำนวน คือ ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

  5.2.3 ฉบับรัชกาลที่ 4 มี 4 สำนวน คือ ฉบับพระราชหัตถเลขา

  5.3 พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ คือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับพระ

จักรพรรดิพงศ์ (จาด) พงศาวดารเหนือ พงศาวดารโยนก

6. หลักฐานที่เป็นจดหมายเหตุชาวต่างประเทศ

หลักฐานพวกนี้เป็นหลักฐานภาษาต่างประเทศ เพราะมีชาวยุโรปหลายชาติเข้ามาติด

ต่อในสมัยอยุธยา หลักฐานเหล่านี้อยู่ในรูปของบันทึก จดหมายเหตุ จดหมายถึงผู้บังคับบัญชา จดหมายของข้าราชการและพ่อค้า เอกสารทางการทูต บันทึกของมิชชันนารี เช่น จดหมายเหตุของลาลูแบร์ , บันทึกของบาดหลวงเดอ ชัว สี , จดหมายเหตุวันวิลิต , เอกสารฮอลันดา , ฯลฯ

 

อ้างอิงจาก (สุริยันตร์ เชาวนปรีชา : เอกสารประกอบการสัมมนาประวัติพระยาพิชัยดาบหักเพื่อการจัดทำหลักสูตรบุคคลสำคัญท้องถิ่น )

bottom of page